5 ข้อดีของการใช้ ‘Influencer’ โปรโมทสินค้าในโซเชียล
หลายคนคงทราบอยู่แล้วว่าการทำการตลาดออนไลน์ในยุคนี้ก็มีกลยุทธ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่คอนเทนต์หรือเนื้อหาที่โดนใจลูกค้า, การกำหนดราคาที่สมเหตุสมผล, โปรโมชันที่ดึงดูดใจ, การสร้างความแตกต่าง, ช่องทางการขายที่สะดวก, การตลาดแบบปากต่อปาก, กลยุทธ์การโปรโมท และกลยุทธ์อื่น ๆ อีกมายมาย
ซึ่งกลยุทธ์การโปรโมทที่เห็นจะได้ผลดี ก็คงหนีไม่พ้นการใช้ ‘Influencer’ ในการโปรโมทสินค้าหรือบริการในโซเชียล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการทำการตลาดออนไลน์ในยุคนี้เลยก็ว่าได้ ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายที่ทางแบรนด์สามารถดึง Influencer ที่มีไลฟ์สไตล์และคาแรกเตอร์ต่าง ๆ มาโปรโมทสินค้าหรือบริการได้ตามที่เหมาะสมกับตัวแบรนด์หรือสินค้าและบริการนั้น ๆ
ส่วนใครหรือแบรนด์ไหนที่กำลังสนใจนำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้ หรืออยากรู้ว่า Influencer คืออะไร มีกี่ประเภท แล้วมีข้อดีอะไร ทำไมต้องนำมาช่วยในการโปรโมทสินค้าหรือบริการของคุณ วันนี้ ‘Digihack’ หาคำตอบเหล่านั้นมาให้ทุกคนแล้ว จะเป็นยังไงบ้าง ลองไปดูกันได้เลย
สารบัญ
-
Influencer คืออะไร
-
Influencer มีกี่ประเภท
-
5 ข้อดีของการใช้ Influencer โปรโมทสินค้าในโซเชียล
-
สรุป
Influencer คืออะไร
‘Influencer’ มาจากคำว่า Influence ที่แปลว่า การจูงใจ, การโน้มน้าว หรืออิทธิพล ซึ่งหากมองความหมายโดยรวมแล้ว Influencer จึงหมายถึง ผู้มีอิทธิพลหรือผู้ที่สามารถจูงใจได้ ซึ่งหลายคนยังเรียกว่า ‘เน็ตไอดอล (Net Idol)’ ‘ยูทูปเบอร์ (Youtuber)’ และ ‘บล็อกเกอร์ (Blogger)’ อีกด้วย
โดย Influencer ในที่นี้คือผู้ที่มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงหรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก บนช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Youtube รวมไปถึงแอปพลิเคชันสุดฮิตอย่าง TikTok โดยมีไลฟ์สไตล์และคาแรกเตอร์ชัดเจน หรือเชี่ยวชาญในการทำคอนเทนต์เฉพาะด้าน เช่น ด้านความสวยความงาม, ด้านอาหาร, ไลฟ์สไตล์, ด้านท่องเที่ยว หรือด้านเทคโนโลยี
ดังนั้น Influencer จึงเป็นเครื่องมือการตลาดที่อาศัยอิทธิพลของเหล่า Influencer ในการโน้มน้าวให้ผู้ติดตามสนใจ ชื่นชอบ จนไปถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของแบรนด์นั้น ๆ ซึ่งถ้า Influencer มีจำนวนผู้ติดตามมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีอิทธิพลต่อผู้ติดตามมากเท่านั้น
Influencer มีกี่ประเภท
ประเภทของ Influencer จะแบ่งตามจำนวนผู้ติดตาม (Followers) ในช่องทางต่าง ๆ โดยเริ่มต้นตั้งแต่จำนวนผู้ติดตาม 1,000 คน ไปจนถึงจำนวนผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 5 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- Nano-Influencer คนที่มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 – 10,000 คน
- Micro-Influencer คนที่มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 10,000 – 50,000 คน
- Mid-Tier Influencer คนที่มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 50,000 – 100,000 คน
- Macro-Influencer คนที่มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 คน
- Mega-Influencer คนที่มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000,000 คนขึ้นไป
5 ข้อดีของการใช้ ‘Influencer’ โปรโมทสินค้าในโซเชียล
1) สร้าง Brand Awareness
ด้วยจำนวน Followers หรือผู้ติดตามจำนวนมากบนช่องทางต่าง ๆ ของเหล่า Influencer นั้น จะทำให้การสร้าง Brand Awareness หรือการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์หรือสินค้าและบริการของคุณเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นและเป็นที่รู้จักได้เพียงชั่วข้ามคืน
เช่น หากคุณเพิ่งเปิดคาเฟ่ใหม่และต้องการให้ร้านของคุณเป็นที่รู้จักแบบเร็วที่สุด คุณอาจให้ Influencer สายรีวิวคาเฟ่ มารีวิวอาหารและเครื่องดื่ม หรือถ่ายรูปกับมุมต่าง ๆ ภายในร้าน เพื่อดึงลูกค้าสาย Cafe Hopping ให้สนใจและมาตามรีวิวของ Influencer ที่พวกเขาติดตามนั่นเอง
2) เกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก (Word of Mouth)
ไม่ว่าจะเป็นการตลาดออฟไลน์หรือการตลาดออนไลน์ หนึ่งในกลยุทธ์ที่หลาย ๆ แบรนด์เลือกใช้ก็คือการบอกต่อแบบปากต่อปาก โดยวิธีที่จะทำให้กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดก็คงเป็นการใช้ Influencer ที่ถือเป็นผู้บริโภคเหมือน ๆ กับคนทั่วไป
เพราะโดยปกติแล้วคนใหญ่มักจะเชื่อผู้บริโภคด้วยกันมากกว่าโฆษณาจากตัวแบรนด์ ยิ่งเป็น Influencer ที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับสินค้าและบริการ ก็จะยิ่งมีอิทธิพลในการบอกต่อแล้วโน้มน้าวใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
3) ช่วยในการตัดสินใจของลูกค้า
ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันผู้บริโภคนิยมที่จะหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ และถ้าหากคุณต้องการคำการันตีว่า “สินค้าของคุณคุณภาพดี” “ใช้แล้วเห็นผลจริง” “รับประทานได้ ปลอดภัย” หรือ “รสชาติอร่อย”
ก็คงต้องมีคำรีวิวจากลูกค้าที่ใช้สินค้าของคุณจริง และถ้าหากยิ่งเป็นคนดังหรือคนที่มีชื่อเสียงในด้านนั้น ๆ อย่าง Influencer แล้วนั้น แน่นอนว่าสินค้าของคุณจะยิ่งดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และจะช่วยในการตัดสินใจของลูกค้าได้เป็นอย่างมาก
4) เพิ่มยอดขาย
แน่นอนว่าการทำการตลาดทุกรูปแบบย่อมมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มยอดขาย และจาก 3 ข้อก่อนหน้านี้ ทั้งสร้าง Brand Awareness, เกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก และช่วยในการตัดสินใจของลูกค้า ล้วนแต่นำมาซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด
เช่น หากคุณมีหน้าร้านก็จะช่วยให้มีคนเข้าร้านที่เพิ่มขึ้นจากการโปรโมทของ Influencer แต่ถ้าหากเป็นร้านค้าออนไลน์ก็ยังช่วยให้แบรนด์หรือสินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จนเกิดเป็นลูกค้าในที่สุด
5) วัดและประเมินผลได้
ในทางออนไลน์แบรนด์สามารถดูผลตอบรับบนโซเชียลมีเดียได้ทั้งก่อนจ้างงานและหลังจ้างงาน เช่น บน Facebook ดูผลตอบรับจากยอดการเข้าถึง (Reach) และการมีส่วนร่วม (Engagement) คือ จำนวนยอดถูกใจ (Like), ความเห็น (Comment), แชร์ (Share) หรือยอดการรับชม (View)
ซึ่งในการดูก่อนจ้างงานก็เพื่อดูว่า Influencer ที่คุณสนใจนำมาโปรโมทสินค้าหรือบริการจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ได้หรือไม่ และยังสามารถดูผลตอบรับหลังการจ้างงาน เพื่อนำไปประเมินผลและวางแผนการตลาดครั้งต่อไปได้อีกด้วย
สรุป
Influencer คือ ผู้ที่มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล มีไลฟ์สไตล์และคาแรกเตอร์ชัดเจน หรือเชี่ยวชาญในการทำคอนเทนต์เฉพาะด้าน สามารถโน้มน้าวให้ผู้ติดตามสนใจ ชื่นชอบ จนไปถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งถ้า Influencer มีจำนวนผู้ติดตามมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีอิทธิพลต่อผู้ติดตามมากเท่านั้น
ซึ่งข้อดีที่แบรนด์จะได้จากการใช้ Influencer ในการโปรโมทสินค้าหรือบริการ ได้แก่ การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ในวงกว้าง, เกิดเป็นกระแส หรือการบอกต่อแบบปากต่อปาก, ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการง่ายขึ้น, ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปรับกลยุทธ์การโปรโมทในครั้งต่อ ๆ ไป
ซึ่งหากแบรนด์ไหนหรือผู้ประกอบการคนไหนกำลังจะใช้ Influencer ในการโปรโมทให้กับทางแบรนด์ ‘Digihack’ ขอฝากไว้เล็กน้อยว่า การเลือก Influencer ไม่ควรมองแค่เพียงจำนวนผู้ติดตามเท่านั้น คุณจะต้องเลือกให้เหมาะกับแบรนด์หรือสินค้า เพราะจะส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายและภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างมาก